fbpx
Skip to content Skip to footer

วัฏจักรเครดิตและบทบาทของสินทรัพย์ดิจิทัลในโลกยุคใหม่

สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุน กระจายความเสี่ยงและทำกำไรในโลกยุคใหม่นี้ จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นโอกาสที่นักลงทุนควรจะหันมาศึกษา

ตั้งแต่โบราณกาล เศรษฐกิจของชุมชน เขตปกครอง ประเทศ จนถึงจักรวรรดิถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เหมือนกัน คือมีการผลิตสิ่งของและบริการ มีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขาย มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการผลิต และส่วนต่างคือกำไรที่บริษัทสามารถนำไปขยายกิจการและเพิ่มกำลังซื้อในเศรษฐกิจ และทุกครั้งที่มีการจับจ่าย ก็จะเกิดรายได้ให้กับบุคคลที่ผลิตสิ่งของหรือบริการนั้น

 ดังนั้น จึงเกิดการหมุนเวียนของเงินในเศรษฐกิจขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจดีและมีการผลิตในจำนวนมาก ก็มักจะเกิดการระดมทุน ทั้งผ่านการออกหุ้นหรือกู้ยืมมากขึ้น ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสร้างหนี้เพื่อขยายการผลิตในเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าทำในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะเป็นปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทางบวก เพราะบริษัทสามารถลงทุนเงินเพื่อสร้างผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แต่ในที่สุด หนี้ต้องถูกชำระ และการชำระหนี้นั้นเป็นปัจจัยในการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้รายได้ กำลังซื้อ และการหมุนเวียนของเงินในเศรษฐกิจลดลง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดวัฏจักรเครดิตขึ้น ซึ่งเครดิตและหนี้สิน จะเพิ่มขึ้นและลดลงตามกาลเวลาเป็นวงจร และวัฏจักรนี้ได้มีการเกิดดับนับไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ 

โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดวิกฤตหนี้ขึ้น นักวางแผนและผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศ จะมีวิธีการลดภาระหนี้ได้หลัก ๆ 4 วิธี คือ (1) ลดการใช้จ่าย (2) ปรับโครงสร้างหนี้และเข้ากระบวนการล้มละลาย (3) กระจายรายได้จากคนที่มีเงินสู่คนที่ขาดเงินอย่างการขึ้นภาษี และ (4) พิมพ์และอัดฉีดเงิน 

ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีหนี้สินล้นมือและขาดความสามารถในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ วิธีการลดภาระหนี้สินที่สะดวกรวดเร็วและสามารถถูกผลักดันในเชิงนโยบายได้ง่าย คือการพิมพ์และอัดฉีดเงิน ซึ่งปีนี้เราได้เห็นธนาคารกลางหลายแห่งใช้มาตรการนี้มาแก้ปัญหาหนี้และกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวัฏจักรเครดิตและวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินของประเทศนั้น ๆ ระบบการเงินในประวัติศาสตร์กว่าหลายพันปีของมษุยชาติมีอยู่ 3 ระบบด้วยกัน คือ (1) ระบบการเงินโภคภัณฑ์ หรือ Hard Money (2) ระบบเงินที่มีโภคภัณฑ์รองรับ หรือ Paper Claims on Hard Money และ (3) ระบบเงินกระดาษ หรือ Fiat Money 

การหดตัวของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการชำระหนี้ (deleverage) ในบางครั้งมีความรุนแรงถึงขั้นที่ระบบการเงินของประเทศถูกเปลี่ยน อันเป็นผลให้สกุลเงินของประเทศนั้นมีการปรับลดค่าเงินลง (devaluation) เมื่อเทียบกับสินทรัพย์หรือค่าชี้ภาวะทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างทองคำหรือดัชนีราคาผู้บริโภค 

การปรับลดค่าเงินลงเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง แม้กระทั่งกับสกุลเงินหลักของโลก เช่น เงินปอนด์ของสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1949 และ 1967 เงินดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 1933 และ 1971 โดยเราจะเห็นได้ว่าในปี 1933-1934 ไม่กี่ปีหลังช่วง The Great Depression ราคาทองได้มีการปรับตัวขึ้นจาก $20.67 เป็น $35 ต่อออนซ์ หรือ 69% หลังประธานาธิบดีโรสเวลต์ประกาศไม่อนุญาติให้ประชาชนกักเก็บทองคำเกินกว่ามูลค่า 100 เหรียญสหรัฐฯ และส่วนเกินจะต้องถูกส่งมอบให้กับทางรัฐบาล เพื่อเพิ่มศักยภาพของสหรัฐฯ ในการพิมพ์เงินที่มีโภคภัณฑ์รองรับ ทั้งนี้ประชาชนธรรมดาไม่สามารถที่จะทำกำไรจากมูลค่าทองคำที่เพิ่มขึ้นได้ง่าย เพราะจะทำผิดกฎหมาย เลยมีแค่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทำกำไรและสามารถพิมพ์เงินออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 

ในที่สุดช่วงปี 1971-1976 สหรัฐอเมริกาได้มีการเปลี่ยนจากระบบเงินที่มีโภคภัณฑ์รองรับ (ทองคำ) มาเป็นระบบเงินกระดาษอย่างเต็มตัว ด้วยเหตุนี้ เงินและเครดิตที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจจึงสามารถถูกพิมพ์ออกมาได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งหากเงินที่ถูกพิมพ์ออกมาไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดผลทางการผลิตก็อาจทำให้มูลค่าของเงินสกุลนั้นลดค่าลงได้ในระยะยาวเมื่อเทียบกับมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ ราคาทองได้มีการปรับตัวขึ้นจาก 38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ในปี 1971 ขึ้นไปถึง 589.75 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 1980 หรือ 1,452%

เรายังเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับปอนด์สหราชอาณาจักรและสกุลเงินอีกหลายกรณีในประวัติศาสตร์ เรย์ ดาลิโอ นักลงทุนสายมหภาคชื่อดัง ได้กล่าวไว้ว่า “ตั้งแต่ปี 1700 จนถึงปัจจุบัน มีสกุลเงินเกิดขึ้นราว 750 สกุล แต่ตอนนี้เหลือรอดอยู่แค่ 20% และสกุลเงินที่เหลืออยู่ล้วนผ่านการปรับลดมูลค่าแล้วทั้งสิ้น” โดยการปรับลดมูลค่าที่เกิดขึ้นก็ต้องมีสินทรัพย์อื่นที่ได้รับผลบวกในเชิงราคาที่นักลงทุนแห่กันไปซื้อและถือครองแทนสินทรัพย์เก่า ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินอื่น ทองคำ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ 

โดยส่วนใหญ่วัฏจักรเครดิตที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 50-75 ปีและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1945 หรือช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ 75 ปีที่แล้ว 

เพราะเหตุนี้ พวกเรานักลงทุนควรจะเริ่มตั้งคำถามว่า ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ปริมาณหนี้สินสูงเป็นประวัติการทั้งภาครัฐและครัวเรือน กำลังซื้อและสภาพคล่องต่ำ อัตราการว่างงานสูง อัตราการล้มละลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความแตกแยกทางความคิดและการเมือง สงครามการค้าระหว่างขั้วอำนาจเก่าและผู้ท้าชิงใหม่ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น 

บวกกับโครงสร้างแรงงานที่เปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุในระยะยาว และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขึ้น เช่นจากสวัสดิการสังคม รัฐบาลทั่วโลกจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาหนี้ในครั้งนี้โดยไม่ลดมูลค่าของสกุลเงินตัวเองอย่างที่เคยทำมานับไม่ถ้วนในอดีต และหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเราควรจะลงทุนในสินทรัพย์อะไร ที่จะลดความเสี่ยงนั้นในระยะยาว

ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการพิมพ์เงินออกมาช่วยธนาคารที่ล้มละลายในปี 2008 มีบุคคลนิรนามท่านหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Satoshi Nakamoto ออกมาสร้างคริปโทเคอร์เรนซีแรกของโลกที่มีชื่อว่าบิทคอยน์ ที่มีความปลอดภัยสูง มีอุปทานจำกัดที่ 21 ล้านบิทคอยน์ และไม่สามารถพิมพ์เพิ่มได้เสมือนสินค้าโภคภัณฑ์ดิจิทัล (Digital Gold) มีความกระจายศูนย์ไร้คนกลาง สามารถโอนไปที่ไหนในโลกได้ในราคาถูกและรวดเร็ว

 ผ่านไปแล้วกว่า 10 ปี บิทคอยน์ยังมีการเติบโตขึ้นทุกวัน ทั้งปริมาณการซื้อขาย การเข้าถึงตลาดโดยนักลงทุน มีคนรับแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่น ๆ ได้ง่ายทั่วโลก การกำกับดูแลและกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ บนระบบบล็อกเชน เช่น Smart Contract และ Decentralized Finance (DeFi) ทั้งนี้ทำให้เกิดการลงทุนโดยนักลงทุนรายย่อยและสถาบันการเงินทั่วโลกในเทคโนโลยีใหม่นี้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และเกิดเป็นอุตสาหกรรมบล็อกเชนขึ้น ราคาของบิทคอยน์พุ่งขึ้นจาก $0.05 ต่อบิทคอยน์ในปี 2010 ไปเป็น $19,000 ในปี 2017 ก่อนปรับตัวลงมาอยู่ที่ราว $9,000 ในปัจจุบัน

 บริษัท Andreessen Horowitz ซึ่งเป็น Venture Capital ระดับโลกที่ลงทุนในสตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง เฟซบุ๊ก แอร์บีแอนด์บี สไกป์ ได้ออกมาประกาศในเดือนเมษายนปีนี้ ว่าทางบริษัทได้ระดมทุนมา 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนใน สินทรัพย์ดิจิทัล และบริษัทที่ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจในโอกาสการลงทุนและการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมนี้

เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลง่ายและปลอดภัยมากขึ้น จึงมีนักลงทุนหลายคนเชื่อว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เงินจะไหลเข้ามาในภาวะที่จากนี้ไปในระยะยาว เงินกระดาษจะลดค่าลงอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม สินทรัพย์ดิจิทัลถูกออกแบบมาให้มีการกระจายศูนย์ จึงทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลมีสหสัมพันธ์ (correlation) กับสินทรัพย์อื่น ๆ ต่ำและเหมาะที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการกระจายความเสี่ยง

 ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ประเทศไทย แต่โลกการเงินและเศรษฐกิจวันนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก หากมีการไหลของเงินจากต่างประเทศเข้า สินทรัพย์ดิจิทัลราคา สินทรัพย์ดิจิทัล ในไทยก็จะขยับตามราคาโลก ไม่ต่างจากราคาทองคำที่อิงกับราคาโลก นักลงทุนในไทยจึงไม่มีความเสียเปรียบนักลงทุนต่างประเทศ เพราะสามารถเข้าถึงโอกาสการลงทุนเดียวกันได้ง่ายและอย่างปลอดภัยผ่านบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องในประเทศไทย

 เพราะเหตุนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราในฐานะนักลงทุนควรจะหันมาศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งหากสินทรัพย์ดิจิทัลถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่ง Asset Class ไม่ต่างกับสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้แล้ว เราควรจะแบ่งเปอร์เซ็นต์ของพอร์ตการลงทุนไม่มากก็น้อยให้กับสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุน กระจายความเสี่ยงและทำกำไรในโลกยุคใหม่นี้

บทความนี้เขียนโดย กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO บริษัท บิทาซซ่า จำกัด บทความนี้มีไว้ให้ข้อมูลเท่านั้น มุมมองและความคิดเห็นถือเป็นเนื้อหาที่มาจากปัจเจกบุคคล และไม่ถือเป็นการแสดงออกโดยบริษัท บิทาซซ่า จำกัดและพนักงานที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาที่นำเสนอไม่ถือเป็นคำแนะนำด้านการลงทุน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง :  บิทคอยน์-ลิบรา-หยวนดิจิทัล ใครจะได้ปกครองระบบการเงินโลกใหม่

Leave a comment

เกี่ยวกับ SuperCryptoNews

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN