fbpx
Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

4 ข้อที่นักลงทุน Bitcoin ควรรู้ก่อนเจอกับตลาดกระทิงของจริง

นักลงทุนคริปโตเคอเรนซี่มือเก๋าที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปีคงรู้ซึ้งดีถึงความน่ากลัวของตลาดคริปโตเคอเรนซี่ไม่ว่าจะเป็นในช่วงขาขึ้นหรือขาลง แม้ Bitcoin จะจบตลาดขาขึ้นครั้งก่อนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2018 และตกอยู่ในสภาวะตลาดหมียาวนานเกือบสามปี แต่ในที่สุดก็ดูเหมือนว่าตลาดคริปโตกำลังวกกลับเป็นขาขึ้นครั้งใหม่ในช่วงปลายปี 2020 นี้

สำหรับนักลงทุนที่พึ่งเข้ามาในตลาด ก่อนอื่นต้องขอชมก่อนเลยว่ายอดเยี่ยมมากที่เหลือรอดมาจนถึงตอนนี้ เพราะหากคุณเข้ามาในตลาดหลังปี 2018 แล้วล่ะก็คงรู้ซึ้งดีถึงความโหดร้ายของตลาดหมีที่ดูแสนจะสิ้นหวังที่การร่วงลงมากกว่า 50% ในวันเดียวของ Bitcoin นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องปรกติ และไม่ว่า Bitcoin จะพยายามพุ่งขึ้นกี่ครั้งก็มักโดนตบหัวทิ่มกลับมาเสมอ

อย่างไรก็ตาม การติดภาพจำของตลาดหมีเมื่อแท้จริงแล้วตลาดได้กลับมาเป็นสภาวะกระทิงอีกครั้งนั้นอาจเป็นตัวทำให้นักลงทุนหลายคนต้องเสียโอกาสไปได้ เพราะความกลัวที่ฝังหัวไปแล้วว่า “มันขึ้นไปได้นิดเดียวเดี๋ยวมันก็ลง” ยังคอยหลอกหลอนอยู่ในจิตใต้สำนึกเสมอ

ทั้งนี้ เมื่อตลาดกลับมาเป็นขาขึ้นอย่างเต็มตัว หรือที่เราเรียกกันว่าตลาดกระทิงหรือ Bull Market นั้น การเคลื่อนไหวของราคาย่อมต่างออกไปจากตอนอยู่ในตลาดขาลง วันนี้เราจึงจะมาแนะนำ 4 ข้อควรรู้เมื่อ Bitcoin เข้าสู่ตลาดกระทิงสำหรับนักลงทุนทั้งมือใหม่ที่ยังไม่เคยลิ้มรสและนักลงทุนมือเก๋าที่อาจลืมไปแล้วว่ามันหอมหวานอย่างไร

ราคาขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล

สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตลาดกระทิงก็คือ ราคามันขึ้น แล้วก็ขึ้น แล้วก็ขึ้น โดยไม่มีเหตุผลใด ๆ มารองรับ แม้จะมีข่าวร้ายอะไรมาตลาดก็ไม่สนใจ จ้องจะขึ้นไปต่ออย่างเดียว แม้จะมีหลายครั้งที่เรามองว่า เดี๋ยวมันต้องเจอการปรับฐานหรือแนวต้านที่จะทำให้ราคาร่วงลงมาแต่กลับผิดคาด มันดันขึ้นไปต่อทิ้งให้เราตกรถซะงั้น

เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้า เหล่านักลงทุนจะเกิดความโลภ และมีอาการที่เราเรียกว่า FOMO หรือพูดง่าย ๆ คือ “กลัวตกรถ” นั่นเอง

โดยนักลงทุนจำนวนมากที่เกิดอาการ “กลัวตกรถ” จะแย่งกันซื้อเพราะกลัวจะพลาดโอกาสในการทำกำไร ซึ่งส่งผลให้ราคายิ่งถีบตัวสูงขึ้นไป และทำให้นักลงทุนที่ยังใจแข็งเกิดอาการกลัวตกรถเพิ่มขึ้น วนลูปเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงตอนที่ฟองสบู่แตกนั่นเอง

หลายคนที่เคยสงสัยว่า ใครนะที่กล้าซื้อบิทคอยน์ที่ราคา 6 แสนกว่าบาทเมื่อตอนปี 2017? เดี๋ยวพอคุณเจออาการ FOMO ดังกล่าวเข้าไป ก็จะรู้เองว่ามีหลายคนที่ยินดีจะไล่ราคาขึ้นไปเรื่อย ๆ เพียงเพราะความโลภเท่านั้นเอง

อย่าคิดว่าตัวเองเก่งจนปล่อยให้ความโลภครอบงำ

เมื่อราคาของคริปโตตัวเล็กตัวใหญ่ต่างทะยานขึ้นฟ้าไปเรื่อย ๆ นักลงทุนหยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด อย่างในช่วงปี 2017 ที่กระแส ICO กำลังบูม การทำกำไร 100 เท่าหรือ 1,000 เท่านั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปรกติ

เมื่อทุกคนมีกำไรได้ง่าย ๆ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เกิดอาการหลงตัวเองขึ้น คิดว่าตัวเองเป็นนักเทรดที่แสนเก่งกาจ จับเหรียญนั้นเหรียญนี้ซื้อมาขายไปพักเดียวก็ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำได้ไม่ยาก ซึ่งความหลงตัวเองนี้จะเป็นบ่อเกิดของความมั่นใจเกินขนาดจนลงทุนอย่างไม่กลัวเสียและขาดความระมัดระวัง

นอกจากนี้ ในทุก ๆ วันเราจะได้ข่าวว่าเหรียญนู้น โทเคนนี้พุ่งขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในวันเดียว ความมั่นใจประกอบกับความโลภจะทำให้เราเข้าซื้อเพื่อหวังเพียงแต่ผลกำไรอย่างเดียวโดยไม่ศึกษาให้ดีก่อน หรือไม่ก็ตัดสินใจซื้อง่าย ๆ ตามเหล่า “กูรู” ทั้งหลายที่จะโผล่ขึ้นมาเหมือนเห็ดราในหน้าฝน

เหรียญ Substratum ของผู้เขียน ที่ซื้อตาม “กูรู” โดยไม่ศึกษา มูลค่าลดลงจาก 0.147 BTC ไปเกิอบ 99%

การซื้อเหรียญมั่ว ๆ ตามคนอื่นเช่นนี้มักจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลายคนต้องขาดทุน เพราะเหรียญหรือโทเคนโนเนมพวกนี้มักจะเป็นการ Pump & Dump หรือปั่นราคาเม่าขึ้นไปเชือด เมื่อรายใหญ่เทขายโกยกำไร ราคาของมันก็จะแน่นิ่งไม่มีการขยับหรือฟื้นตัวอีกเลย

Bitcoin สามารถย่อแรงได้แม้ในตลาดขาขึ้น

ดังที่กล่าวไปในข้อแรกว่าราคามันมักจะขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล แต่แม้จะเป็นตลาดกระทิงดุ คริปโตเคอเรนซี่ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความผันผวนก็สามารถย่อลงแรง ๆ เพื่อสลัดเม่าให้ตกใจและเทขายได้เสมอ

การร่วงลงของราคาในระดับ 30 – 40% เปอร์เซ็นต์ในช่วงสั้น ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอแม้จะเป็นตลาดขาขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคาเช่นนี้จะทำให้นักลงทุนที่ยังติดอยู่ในภาพจำของตลาดหมีรู้สึกว่า “นี่งะ ว่าละ ขึ้นไปนิดเดียวก็ลงมา” แต่ในตลาดกระทิงนั้น แม้จะลงไปแรงเท่าไหร่ก็มักจะมีแรงซื้อกลับมาจนทำให้ราคาไปต่อเรื่อย ๆ อันทำให้แม้แต่คนใจแข็งที่สุดก็เกิดสติแตกและ FOMO เข้าซื้อได้เสมอ

ยกตัวอย่างในกราฟของ Bitcoin ในปี 2017 ข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าตลอดทั้งปีมีการย่อขนาดใหญ่เกิดขึ้นถึง 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งร่วงลงแรง 30 – 40% เลยทีเดียว แต่สุดท้ายแล้วราคาก็สามารถเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,000 ดอลลาร์ในช่วงต้นปีไปทำจุดสูงสุดตลอดกาล (ATH) ได้ที่เกือบ 20,000 ดอลลาร์ในช่วงปลายปีอยู่ดี

วางแผนการขายทำกำไร

นักลงทุนหลายคนมักจะวางแผนการซื้อไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการดูกราฟเทคนิคประกอบ การซื้อเมื่อเกิดการย่อตัว (Buy on Dip) หรือการทยอยซื้อถัวเฉลี่ยแบบ DCA แต่มักจะลืมวางแผนการ Take Profit หรือขายกำไรไปเสียอย่างนั้น

อย่าลืมว่าแม้พอร์ตเราจะ +1,000% แต่ถ้าเราไม่ทำการขายทำกำไร มันก็จะเป็นเพียงตัวเลขสวยงามบนหน้าจอ การวางแผนการขายกำทำไรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

เราจำเป็นต้องตั้งเป้าเอาไว้ก่อนว่าจะทำการขายเมื่อไหร่ เป็นสัดส่วนมากแค่ไหน แม้จะเชื่อว่า Bitcoin จะสามารถขึ้นไปถึงระดับ 1 ล้านดอลลาร์ได้ แต่การขึ้นเช่นนั้นมันใช้เวลา และย่อมที่การวนลูปตลาดหมีและกระทิงก่อนหลายครั้ง การขายทำกำไรเพื่อนำเงินทุนกลับมาซื้อในช่วงเวลาตลาดเป็นขาลงย่อมจะเป็นการ Maximize Profit ที่ดีและทำให้เรามี Bitcoin เพิ่มขึ้นด้วยจำนวนเงินทุนเท่าเดิมอีกด้วย

การขายทำกำไรไม่จำเป็นต้องขายทีเดียวทั้งหมด เราอาจตั้งเป้าว่าจะขาย 20% เมื่อ Bitcoin แตะระดับ 20,000 ดอลลาร์และขายอีก 20% เมื่อแตะ 50,000 เป็นต้น หรือจะเลือกการ DCA ถัวออกก็ย่อมได้ อย่างเช่น ทยอยขาย 0.1 BTC ทุก ๆ สัปดาห์เมื่อ Bitcoin มีราคาเกิน 50,000 ดอลลาร์

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การ Take Profit ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะเป้าหมายการลงทุนและการยอมรับความเสี่ยงย่อมแตกต่างกันไป จึงขอให้ใช้เวลาส่วนหนึ่งในการวางแผนและคิดเผื่อจุดนี้ไว้ด้วย

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง: เคล็ดลับการเทรดสำหรับมือใหม่

Leave a comment

เกี่ยวกับ SuperCryptoNews

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN