fbpx
Skip to content Skip to footer

อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของตลาดซื้อขาย (Exchange)

Exchange หรือ ตลาดซื้อขายที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ได้ผ่านการวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ โดยทั่วไป คนซื้อและคนขายจะมาเจอกันในสถานที่ส่วนกลางเพื่อทำธุรกรรมซื้อขาย ตลาดจึงเป็นสถานที่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นรูบแบบไหนก็ตาม

วันนี้ผมจะมาเขียนถึงพัฒนาการตลาดตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน โดยจะวิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมเพื่อให้เห็นภาพว่าอนาคตมีโอกาสจะเป็นอย่างไร

ก่อนที่โรคโควิด 19 จะระบาด ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี และได้ไปสัมผัสตลาดแกรนด์บาซาร์ หนึ่งในตลาดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1455 ในตลาดที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 30,700 ตารางเมตร และถนนกว่า 60 เส้นนั้นมีร้านค้ากว่า 4,000 ร้านและผู้เยี่ยมชมกว่า 250,000 ถึง 400,000 คนต่อวัน ผู้ซื้อสามารถต่อรองราคากับร้านค้าได้โดยตรง และมีการแข่งขันสูงระหว่างพ่อค้าแม่ค้า ยิ่งมีร้านค้ามากเท่าไหร่ ราคาและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก็ยิ่งดีขึ้นสำหรับลูกค้า เพราะร้านค้าที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันจะไม่มีรายได้มาจ่ายค่าเช่าและต้องเปิดทางให้ร้านค้าที่ดีกว่ามาแทนที่ จึงเกิดเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ

ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย และมีสภาพคล่องมากกว่าตลาดเล็ก ๆ ในละแวกนั้น ตลาดประเภทนี้เกิดขึ้นมาหลายที่ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสมัยเมโสโปเตเมีย จักรวรรดิโรมัน หรือแม้กระทั่งเส้นทางสายไหม อย่างไรก็ดี ตลาดประเภทนี้ไม่มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าโดยหน่วยงานใด จึงไม่สามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินทรัพย์บางประเภทได้

ภาพภายในตลาดแกรนด์บาซาร์ อิสตันบูล ประเทศตุรกี

เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชนิดมีความเฉพาะทาง จึงมีความจำเป็นต้องสร้างตลาดพิเศษที่จะมารองรับธุรกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือตลาดหลักทรัพย์แห่งเมืองอัมสเตอร์ดัม ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1602 ในช่วงนั้น ได้มีการจัดตั้งบริษัทมหาชนแรกในประวัติศาสตร์ขึ้น ชื่อสหบริษัทอินเดียตะวันออก หรือ Dutch East India Company (VOC)

บริษัท VOC ออกหุ้นสู่สาธารณะเพื่อระดมทุนทำการค้าเครื่องเทศระดับนานาชาติ เนื่องจากเป็นบริษัทมหาชน จึงสามารถระดมทรัพยากรได้มากกว่าบริษัททั่วไป และสามารถมีอิทธิพลทางการเมืองเป็นอย่างมาก ทางรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ได้มอบสิทธิ์ผูกขาดทางการค้าและให้อำนาจที่จะเข้าร่วมสงคราม สั่งจำคุก ประหารชีวิตนักโทษ เจรจาสนธิสัญญา ผลิตเหรียญกระษาปณ์ของตน จนไปถึงจัดตั้งอาณานิคมได้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งเมืองอัมสเตอร์ดัมจึงเป็นตัวอย่างความสำเร็จของตลาดที่สามารถช่วยให้ทุนถูกนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูง ทำให้สังคมดัตช์มีเป้าหมายทางการเงินและเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน จนจักรวรรดิที่มีทรัพยากรจำกัดสามารถขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้ในสมัยนั้น

ประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์สามารถทำให้ประเทศเกิดความเจริญก้าวหน้าได้อย่างมาก จึงเกิดตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาหลายแห่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น New York Stock Exchange ในสหรัฐอเมริกา Tokyo Stock Exchange ที่ญี่ปุ่น London Stock Exchange ที่อังกฤษ หรือ Shanghai Stock Exchange ที่ประเทศจีน การซื้อขายหุ้นในสมัยก่อนยังไม่มีประสิทธิภาพเหมือนในปัจจุบัน เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยให้ข้อมูลส่งถึงกันได้อย่างรวดเร็ว

ในปี 1850 Paul Julius Reuter ถึงขั้นมีบริษัทรับส่งข้อมูลราคาหุ้นระหว่างกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศษ และกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยเขียนราคาหุ้นบนเศษกระดาษแล้วให้นกพิราบบินส่งข้อมูล เพราะนกจะสามารถเดินทางได้เร็วกว่ารถไฟ นักลงทุนที่ใช้บริการของนาย Reuter จึงสามารถลงทุนโดยใช้ข้อมูลที่คนทั่วไปยังไม่รู้ได้ 

เทคโลโนยีการเทรดในตลาดหลักทรัพย์ยังมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ เพราะเป็นตลาดที่สร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนอย่างมาก โดยในปี 1880 นักลงทุนที่ Wall Street สามารถซื้อขายหุ้นผ่านการโทรศัพท์ไปหานายธนาคารให้ช่วยทำธุรกรรมได้ และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้นและไม่จำเป็นต้องใช้นกพิราบอีกต่อไป ธุรกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสายโทรศัพท์ระหว่างผู้ซื้อขายและตัวแทนของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายจริง ๆ เกิดขึ้นที่ Trading Floor และใช้ระบบ Open Outcry หรือการใช้สัญญาณมือและการตะโกนตกลงราคาซื้อขายกับอีกฝ่ายในพื้นที่แออัด วิธีการเทรดผ่านระบบนี้จำเป็นต้องใช้มืออาชีพที่ได้รับอนุญาตเข้าไปที่ Trading Floor ลูกค้ารายย่อยจึงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูง และไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ด้วยตัวเอง

ภาพนักเทรดที่ Wall Street ส่งสัญญาณมือซื้อขายแบบ Open Outcry 

ระบบตลาดซื้อขายที่พึ่งพาเอกสารกระดาษนี้ยังขาดความสามารถในการรองรับปริมาณซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในปี 1968 ปริมาณการซื้อขายในตลาด NYSE เพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านหุ้นต่อวัน จึงทำให้จำนวนเอกสารที่ทางผู้เล่นในตลาดต้องใช้ในการส่งมอบและชำระหุ้นล้นมือ ทางตลาดจึงมีความจำเป็นต้องลดชั่วโมงเทรดลงเป็น 4 วันต่อสัปดา เนื่องจากระบบตลาดยังไม่ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วย จึงทำให้ต้องมีพนักงานวิ่งขึ้นลง Wall Street เพื่อจัดส่งเอกสารเหล่านี้ด้วยมือ วิกฤตนี้มีชื่อว่า Paperwork Crisis of 1968 และภายในไม่กี่ปี มีบริษัทปิดตัวลงเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่ทวีคูณขึ้นได้

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และความล้มเหลวของระบบเอกสารที่วุ่นวายจุดประกายให้บริษัทเริ่มหันมาสนใจระบบเทรดที่ใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น และในปี 1971 ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกของโลกก็ได้เปิดตัว มีชื่อว่า Nasdaq และทำให้ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วโลกหันมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้นตาม ๆ กัน โดยระบบตลาดบนคอมพิวเตอร์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันจะมีอยู่สองประเภทหลัก ๆ คือ (1) ตลาดที่ใช้ออเดอร์นำ หรือ order-driven market และ (2) ตลาดที่ใช้ราคานำ หรือ quote-driven market

ตลาดที่ใช้ออเดอร์นำที่รู้จักกันดีจะมีฐานข้อมูลกลางที่ใช้รวบรวมลิมิตออเดอร์ซื้อขายของลูกค้า และจะเกิดการจับคู่ซื้อขายด้วยหลักการ price-time priority หรือจับคู่คนที่มาเข้าคิวซื้อขายที่ให้ราคาดีที่สุดก่อน พอจับคู่ทุกคนในคิวเสร็จ ก็จะหาคนที่ให้ราคาดีรองลงมาต่อไปเรื่อย ๆ ระบบนี้มีอีกชื่อว่า Central Limit Order Book (CLOB) ส่วนตลาดที่ใช้ราคานำที่เป็นที่นิยมจะใช้วิธีการขอราคา แล้วจึงจะส่งคำสั่งซื้อขาย ระบบนี้มีชื่อว่า Request for Quote (RFQ) ซึ่งเหมาะสมที่จะใช้เมื่อนักลงทุนมีความต้องการจะซื้อขายในปริมาณมาก และไม่อยากส่งคำสั่งซื้อขายไปยัง CLOB แล้วบอกให้ทุกคนเห็นถึงความต้องการตัวเองก่อนที่จะเกิดการซื้อขาย

เหตุผลหลักคือเมื่อเราส่งคำสั่งซื้อขายไปยังตลาดเปิดแล้ว จะมีนักเทรดเห็นถึงอุปสงค์และทำให้ราคาขยับก่อนที่จะสามารถซื้อขายได้ นักลงทุนรายใหญ่จึงชอบใช้ระบบ RFQ เพื่อจะได้เห็นราคาแล้วเทรดโดยไม่ต้องให้สาธารณะรับรู้ ทั้งหมดนี้เป็นระบบเทรดบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์และมีประสิทธิภาพมาก เพราะไม่จำเป็นต้องให้คนจำนวนมากมาเจอกันในสถานที่แออัดแล้วตะโกนคำสั่งซื้อขายกันเหมือนในอดีต 

การซื้อขายหลักทรัพย์ในปัจจุบันมีการกำกับดูแลที่เคร่งครัดเพราะต้องพึ่งพาคนกลางที่ดูแลระบบเทรด ซึ่งทำให้นวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นยาก หลักจากที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้พัฒนาสัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชน ก็เริ่มมีโครงการสร้างระบบซื้อขายโดยไม่ผ่านคนกลาง หรือที่เรียกว่า Decentralized Exchange (DEX) การเทรดบน DEX ในปัจจุบันที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายคือระบบ Automated Market Making (AMM) หรือการเขียนหุ่นยนต์สภาพคล่องบนสัญญาอัจฉริยะ

โดยหุ่นยนต์ AMM จะสามารถบอกราคาซื้อขายให้ผู้ลงทุนสามารถเทรดได้ตลอดเวลา ผู้ที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถนำสินทรัพย์นั้นมาใส่ในสัญญาอัจฉริยะให้เป็นทุนกับหุ่นยนต์ในการเทรดได้ หรือเรียกว่าเป็น Liquidity Providers (LPs) โดย LPs จะได้รับค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่เกิดการเทรดขึ้น

โครงการที่เป็นที่นิยมอย่าง Curve Finance มี LPs ฝากเงินเข้ามาถึง 984.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีปริมาณการซื้อขายต่อปีกว่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมเฉลี่ยต่อปีกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโครงการ Uniswap ที่มีปริมาณการซื้อขายต่อปีกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมต่อปีกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อ้างอิงข้อมูลจาก DeFi Pulse และ Token Terminal

ทั้งนี้เราเริ่มเห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การสร้างระบบ Central Limit Order Book บนระบบกระจายศูนย์อย่าง Project Serum หรือการสร้างระบบซื้อขายอนุพันธ์สินทรัพย์ดิจิทัลบนบล็อกเชนอย่าง Synthetix Exchange สัญญาอัจฉริยะเหล่านี้ถูกนำไปใช้ต่อยอดได้อย่างเสรี จึงมีโอกาสที่นวัตกรรมใหม่ ๆ จะถูกสร้างออกมาอย่างที่ไม่เคยมีมาในอดีต

ภาพการเทรด ETH ไป USDT ผ่าน Automated Market Maker บน Uniswap

ตลาดซื้อขายอยู่คู่กับเรามาอย่างยาวนาน และได้พัฒนาจากตลาดในที่เปิดที่ให้พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อขายของกันได้อย่างเสรีอย่างตลาดแกรนด์บาซาร์ในประเทศตุรกี จนถึงการสร้างตลาดเฉพาะทางอย่างตลาดหลักทรัพย์ ที่ช่วยให้ประเทศเล็ก ๆ อย่างเนเธอร์แลนด์สามารถออกล่าอาณานิคมและกลายเป็นมหาอำนาจโลกได้ และได้พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นตลาดหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ช่วยประมวลผลการซื้อขาย การชำระเงิน และการส่งมอบหุ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยให้เราสามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์จากกระเป๋าสู่กระเป๋าผ่านสัญญาอัจฉริยะ โดยไม่ต้องผ่านคนกลางใด ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัย ความโปร่งใส และโอกาสการลงทุนให้กับพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเมื่อไหร่มนุษย์เราก็มีความต้องการที่จะแลกเปลี่ยนมูลค่าอยู่เสมอ จึงทำให้นวัตกรรมทางการเงินและตลาดซื้อขายเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา ในอนาคต เรากำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง ที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะกลายเป็นสินทรัพย์อัจฉริยะ ที่เราสามารถส่งให้กันได้อย่างเสรี ทำธุรกรรมใหม่ ๆ ได้กับทั้งคนและหุ่นยนต์ที่หลากหลาย และที่สำคัญมีตลาดและสภาพคล่องรองรับ ทำให้ทุนในยุคดิจิทัลสามารถถูกนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

บทความนี้เขียนโดย กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO บริษัท บิทาซซ่า จำกัด บทความนี้มีไว้ให้ข้อมูลเท่านั้น มุมมองและความคิดเห็นถือเป็นเนื้อหาที่มาจากปัจเจกบุคคล และไม่ถือเป็นการแสดงออกโดยบริษัท บิทาซซ่า จำกัดและพนักงานที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาที่นำเสนอไม่ถือเป็นคำแนะนำด้านการลงทุน หากต้องการจะติดต่อผู้เขียน สามารถส่งอีเมลมาที่ kavin@bitazza.com 

Leave a comment

เกี่ยวกับ SuperCryptoNews

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN