fbpx
Skip to content Skip to footer

Yield Farming ในโลก DeFi นวัตรกรรมการเงินหรือแชร์ลูกโซ่ยุคดิจิทัล??

Yield Farming

อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเวลานี้ไม่มีใครปฎิเสธได้ถึงความร้อนแรงของ Decentralized Finance หรือ DeFi นวัตรกรรมการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่พึ่งพาตัวกลางอย่างธนาคาร ด้วยเม็ดเงินในวงจรของ DeFi ที่เคยขึ้นไปแตะระดับเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ต้นปีนี้เม็ดเงินในวงจรของ DeFi เพิ่งจะมีเพียงแค่ 700 ล้านดอลลาร์ จากข้อมูลโดย DeFi Pluse

หนึ่งในนวัตรกรรมที่ทำให้ DeFi เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกับนักลงทุนรายย่อยก็คือการทำ Yield Farming ผ่าน Liquidity Pool ของ Decentralized Exchange (DEX)

อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือหากเป็นตลาดหลักทรัพย์ในโลกการเงินปกติ สภาพคล่องซื้อขายที่เกิดขึ้นในตลาดจะเกิดจากเงินของนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายในตลาด ขณะที่ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางซื้อขายก็จะนำเอาเม็ดเงินนั้นไปต่อยอด เช่น ปล่อยกู้มาร์จินโลน หรือสร้างตราสารอนุพันธ์ เพื่อนำค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยที่เก็บจากลูกค้ามาเป็นรายได้

ส่วนหลักการของ Yield Farmingจะเปิดให้นักลงทุนนำสินทรัพย์ดิจิทัลเอามาฝากเป็นหลักประกันและแหล่งเงินทุนให้กับ Decentralized Exchange ที่ยังมีสภาพคล่องซื้อขายไม่มากนัก เพื่อที่จะนำไปใช้สร้างสภาพคล่องภายในแพลตฟอร์ม โดยจะทำการจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ที่นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาฝากในรูปแบบที่คล้ายกับดอกเบี้ย

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Decentralized Exchange ได้รับเงินทุนมาใช้สร้างสภาพคล่องซื้อขายโดยไม่จำเป็นต้องขอระดมทุนจากใคร ส่วนนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับ Passive Income เพราะเพียงแค่ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ถึงระยะเวลาที่กำหนดก็จะได้ผลตอบแทน (อย่างไรก็ตามผลตอบแทนไม่มีความแน่นอนขึ้นอยู่กับดีมานด์ของตลาด)

แต่สิ่งที่ทำให้กระแสYield Farming เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วก็คือผลตอบแทนที่จ่ายให้ในระดับที่ “สูง” บางแพลตฟอร์มเมื่อคำนวนออกมาแล้วจ่ายผลตอบแทนรายวันในระดับ “เลขสองหลัก” บางแพลตฟอร์มกล่าวอ้างว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ระดับ “พันเปอร์เซนต์” ต่อปี 

เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันที่ต่ำเรี่ยดินใกล้ระดับ 0% ไม่น่าแปลกใจที่บางแพลตฟอร์มสามารถเรียกเงินจากนักลงทุนได้ถึงระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ ในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกๆถึงโมเดลของ Yield Farming มีความใกล้เคียงกับรูปแบบของ “แชร์” กล่าวคือเป็นการนำเงินของหลายๆคนมากองรวมกันจากนั้นก็เปิดให้มีการกู้ยืมกัน โดยนำเงินของคนที่อยู่ในวงมาแจกกันเองวนไปวนมา 

ความเสี่ยงของการทำระดมเงินมากองรวมกันและแจกจ่ายผลตอบแทนนี้ก็คือธุรกรรมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจริงๆยังแทบไม่มี แม้จะเห็นการเติบโตขึ้นบ้าง แต่เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่มาฝากสร้างสภาพคล่องแล้วยังถือว่าห่างกันหลายเท่า 

พูดง่ายๆก็คือมีแต่คนลงเงินมาในฟาร์มเพื่อให้เกิดการทำฟาร์ม แต่คนที่เข้ามาทำฟาร์ม (ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจริง) มีน้อยมาก

แม้ธุรกรรมบนบล็อกเชนจะมีความโปร่งใสคือสามารถตรวจสอบที่มาของเงินได้ตลอดจนผู้ที่ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไว้บนแพลตฟอร์มจะเป็นผู้ดูแลเงินของตัวเอง ต่างจากการเล่นแชร์รูปแบบปกติที่มีโอกาสที่จะโกงเงินกันได้ตลอดเวลา

แต่การชูผลตอบแทนในระดับสูงซึ่งจะเรียกได้ว่า “ไม่สมเหตุผล” เลยก็ว่าได้ จากโมเดลที่ใกล้เคียงกับการเล่นแชร์ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเกมส์การเงินแบบ “แชร์ลูกโซ่” ไปเลยก็ได้

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : Decentralized Finance เทคโนโลยีที่จะมาแทนที่ธนาคาร?

Leave a comment

เกี่ยวกับ SuperCryptoNews

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN