fbpx
Skip to content Skip to footer

วิวัฒนาการทางความคิดและหลักการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

สินทรัพย์ดิจิทัล มีทฤษฎีและหลักคิดในการลงทุนที่หลากหลายและน่าสนใจไม่แพ้กัน ถึงแม้จะเกิดขึ้นมาได้แค่หนึ่งทศวรรษก็ตาม

การลงทุนอยู่กับเรามาหลายพันปี ไม่ว่าจะเป็นหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ อนุพันธ์ทางการเงิน หรือแม้แต่ศิลปะ สินทรัพย์ทุกประเภทมักจะมีหลักคิดและหมวดการลงทุนที่เป็นระบบ มีทฤษฎีประกอบ วัดค่าได้ด้วยข้อมูล และมีวิวัฒนาการตามการเวลา ไม่ต่างจากการตีมูลค่าหุ้นด้วย P/E Ratio หรือการคำนวณราคา Options ด้วยสมการ Black-Scholes 

บทความนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับหลักคิดและข้อถกเถียงที่เป็นประเด็นสำคัญในหมู่นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจบริบทและพัฒนาการของกระบวนการวิเคราะห์และหลักการการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แม้แต่ในโรงเรียนหรือตำรายังไม่มีการสอนกัน

Bitcoin Maximalism vs. Blockchain Proliferation

ตั้งแต่มีการสร้างบิทคอยน์แรกขึ้นในปี 2009 เราได้เห็นชุมชนออนไลน์เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนบิทคอยน์ในยุคแรก ซึ่งในขณะนั้น บิทคอยน์ถือเป็นเรื่องใหม่ และกลุ่มคนที่เข้ามาขุดและซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้มีชื่อว่า cypherpunk หรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบในศาสตร์การเข้ารหัส (cryptography) และรณรงค์ให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวและลดอำนาจรัฐ โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอุดมการณ์อิสรนิยม (libertarian) 

บิทคอยน์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปี ทั้งเจอรัฐบาลโจมตีบ้าง เจอการแข่งขันจากเหรียญอื่นบ้าง จนไปถึงการแฮกศูนย์ซื้อขายยักษ์ใหญ่ และความผันผวนของราคาบิทคอยน์ที่ร่วงหนักถึง 90% จากยอด คนกลุ่มนี้มีสิ่งเดียวที่เหมือนกัน คือเห็นถึงความยืนยงของบิทคอยน์ ที่ไม่ว่าจะเจออะไร ก็ไม่มีใครสามารถหยุดมันได้ 

Bitcoin 4.0

คนกลุ่มนี้จึงลงทุนในบิทคอยน์เท่านั้น เพราะเห็นสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นอีกนับไม่ถ้วนหมดค่าไป จึงชอบทยอยนำเงินสดไปซื้อบิทคอยน์อย่างสม่ำเสมอ หรือการทำ Dollar Cost Averaging (DCA) นั่นเอง ความศรัทธาอันแรงกล้านี้จึงก่อให้เกิดลัทธิ Bitcoin Maximalism ขึ้น

บิทคอยน์ครองตลาดอยู่นาน และเลือกที่จะเป็นแค่หน่วยมูลค่าดิจิทัล จึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานบล็อกเชนในอุตสาหกรรมอื่นได้ นักพัฒนาซอฟต์แวร์บางกลุ่มเลยแยกตัวออกมาสร้างบล็อกเชนใหม่ที่ได้รับการตอบรับดีอย่างอีเธอเรียม (Ethereum) ขึ้นมา ในปี 2017 ได้เกิดการระดมทุนผ่านการออกโทเคนดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า Initial Coin Offering (ICO) และปัจจุบันมีผู้ใช้งานสัญญาอัจฉริยะบนอีเธอเรียมอย่างล้นหลาม

 อ้างอิงข้อมูลจาก Messari และ CoinMetrics การชำระมูลค่าสินทรัพย์บนอีเธอเรียมได้แซงหน้าบิทคอยน์ไปแล้วในเดือนกรกฎาคมปี 2020 โดยการชำระมูลค่าต่อวันบนอีเธอเรียมอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และของบิทคอยน์อยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Bitcoin Maximalist ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น 

อย่างไรก็ดี อีเธอเรียมยังเป็นระบบใหม่ และยังมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไขก่อนที่จะสามารถทำตัวเป็นคอมพิวเตอร์สาธารณะให้กับโลกได้ เช่น เรื่องการเพิ่มศักยภาพในการประมวลผล (scalability) ความเร็วในการทำธุรกรรม (speed) หรือแม้กระทั่งระบบรักษาความเป็นส่วนตัว (privacy)

การสร้างบล็อกเชนใหม่เพื่อรองรับธุรกรรมผ่านสัญญาอัจฉริยะทำให้เกิดการแข่งขันสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้น ซึ่งในวงการเรียกว่า Layer 1 Infrastructure และนอกจากอีเธอเรียมแล้ว ยังมีคู่แข่งขันที่ได้รับเงินทุนจากนักลงทุนมากมายหลายสิบบริษัท วันนี้เราได้เห็นการแข่งขันแย่งชิงความเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะ และผู้ท้าชิงอย่าง Cardano EOS และ Tezos ล้วนมีมูลค่าทางตลาดสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งสิ้น ในอนาคตเราอาจได้เห็นโลกที่มีหลายบล็อกเชนทำงานร่วมกันอย่างกลมเกลียวข้ามอุตสาหกรรม โดยแต่ละบล็อกเชนสามารถดึงจุดแข็งของตัวเองเพื่อตอบโจทย์เฉพาะทางของอุตสาหกรรมนั้น ๆ

Fat Protocol vs. Fat Applications

ในเดือนสิงหาคม ปี 2016 บริษัท Venture Capital (VC) ชื่อดัง Union Square Ventures แห่งสหรัฐอเมริกาได้เขียนบทความชื่อ Fat Protocols โดยนาย Joel Monegro ได้กล่าวว่าในยุคอินเทอร์เน็ต เราใช้มาตรฐานการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ (โพรโทคอล) หลายประเภท เช่น (1) HTTP ในการร้องขอและการตอบรับข้อมูลระหว่างเครื่องลูกข่ายและเครื่องแม่ข่าย (2) SMTP ในการส่งอีเมลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และ (3) TCP/IP ในการควบคุมการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์บนอินเทอร์เน็ต 

ในขณะที่โพรโทคอลเหล่านี้เป็นรากฐานให้กับอินเทอร์เน็ต ก็เริ่มมีแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่าง Google Facebook Amazon Apple Netflix และอื่น ๆ อีกมากมายที่คนทั้งโลกสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ และบริษัทที่สร้างแอปพลิเคชันเหล่านี้ มีมูลค่าทางตลาดหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 กล่าวคือแอปพลิเคชันสามารถใช้โพรโทคอลอย่างเสรีในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท นักลงทุนจึงควรลงทุนในหุ้นบริษัทที่สร้างแอปพลิเคชันเหล่านี้แทนที่จะลงทุนในบริษัทหรือองค์กรที่สร้างโพรโทคอลสาธารณะ

ต่างจากโลกอินเทอร์เน็ต ผู้สนับสนุนทฤษฎี Fat Protocols เชื่อว่าความสัมพันธ์ของมูลค่าในระดับแอปพลิเคชันและโพรโทคอลนั้นกลับด้านกันในโลกบล็อกเชน โดยมูลค่าที่ถูกสร้างขึ้นเพราะความสามารถในการกระจายศูนย์ของบล็อกเชนจะกระจุกตัวอยู่ในคริปโทเคอร์เรนซีที่บล็อกเชนนั้นใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบ ซึ่งเราจะเห็นว่าอีเธอเรียมสามารถมีมูลค่าทางตลาดสูงกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

Investment Token

 ในขณะที่โทเคนชื่อดังอย่าง Maker (MKR) ที่เป็นแอปพลิเคชันจุดชนวนปรากฎการณ์ Decentralized Finance (DeFi) มีมูลค่าตลาดประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเล็กกว่ามูลค่าตลาดของโพรโทคอลถึง 60 เท่า ผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้ยังเชื่ออีกว่าหากมีคนใช้แอปพลิเคชันบนบล็อกเชนเพิ่มขึ้น ก็จะมีความต้องการคริปโทเคอร์เรนซีของบล็อกเชนนั้นมากขึ้น มูลค่าของโพรโทคอลจึงควรจะเติบโตเร็วตามความต้องการของแอปพลิเคชันเช่นกัน 

นักลงทุนจึงควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Layer 1 Infrastructure อย่างอีเธอเรียมหรือแพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะ เพราะจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าการลงทุนในแอปพลิเคชันอย่างเดียว 

อย่างไรก็ดี ทฤษฎี Fat Protocols ออกมาในปี 2016 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีแอปพลิเคชันที่คนใช้กันอย่างแพร่หลาย และยังมี Layer 1 Infrastructure ออกมาไม่เยอะ อิเธอเรียมจึงเป็นโพรโทคอลที่ผูกขาดในตลาด และมีมูลค่ามากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น อิเธอเรียมมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่ขึ้นในวันนี้ จึงทำให้การเติบโตอาจจะช้ากว่ามูลค่าของโทเคนที่อยู่บนบล็อกเชนของตัวเอง 

โดยเราจะเห็นว่าในปี 2019 มูลค่าของอีเธอเรียมลดลง 6% ในขณะที่โทเคน Chainlink (LINK) ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนอีเธอเรียมเติบโตขึ้นกว่า 490% และในปี 2020 มีโทเคนของแอปพลิเคชันอีกมากมายที่ทำรายได้ให้กับนักลงทุนแซงหน้าคริปโทเคอร์เรนซีของโพรโทคอล 

อ้างอิงจากข้อมูล CoinMetrics ในเดือนกรกฎาคมปี 2020 มูลค่าตลาดของโทเคนดิจิทัลบนอีเธอเรียมนั้นรวมกันมีค่าสูงกว่ามูลค่าตลาดของเหรียญอีเธอ (ETH) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวได้ว่านักลงทุนที่ลงทุนในโทเคนระดับแอปพลิเคชันสามารถสร้างผลตอบแทนแซงหน้าการลงทุนตามทฤษฎี Fat Protocols ได้เช่นกัน 

Tokens vs. Equities

ในโลกการลงทุนดั้งเดิม นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลได้หากบริษัทสตาร์ทอัพที่ไปซื้อหุ้นไว้เติบโตและมีคนมาซื้อต่อในราคาที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะมาจากการที่บริษัทใหญ่มาควบรวมกิจการ หรือการขายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยส่วนใหญ่หากซื้อหุ้นแล้ว นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องถือหุ้นเป็นระยะเวลาหลายปี ก่อนที่จะขายได้ จึงก่อให้เกิดอุตสาหกรรม Venture Capital ขึ้น 

บริษัทที่ให้ผลตอบแทนดีต่อนักลงทุนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่มีการเจริญเติมโตแบบอัตราเร่ง และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับโลกได้รวดเร็ว ดังนั้น หากนักลงทุนอยากเข้าถึงโอกาสในการรับรู้รายได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นตามแนวทางของ Fat Applications บนโลกอินเทอร์เน็ต นักลงทุนไม่มีทางอื่นนอกจากการซื้อหุ้นบริษัทเท่านั้น

คำถามสำคัญที่นักลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัล มีเมื่อลงทุนในโทเคนดิจิทัล คืออะไรทำให้โทเคนนั้นมีมูลค่า เราไปซื้อหุ้นบริษัทที่ออกโทเคนมาไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งหากลองศึกษาระบบนิเวศบล็อกเชนแล้ว บางโครงการไม่มีแม้กระทั่งหุ้นบริษัทที่สามารถลงทุนได้ เพราะองค์กรนั้นถูกสร้างบนบล็อกเชนทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น Maker ซึ่งเป็นระบบที่ให้นักลงทุนสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อออกเหรียญ DAI Stablecoin ที่มีมูลค่าผูกกับดอลลาร์สหรัฐฯ 

Maker นั้นเป็นองค์กรที่มีการตัดสินใจแบบกระจายศูนย์ การอัพเกรดระบบหรือออกนโยบายจะถูกโหวตโดยคนที่ถือโทเคน MKR เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ที่รับรู้จะถูกนำมาทำลายโทเคน หรือทำให้อุปทานลดลงตามกาลเวลา ทั้งหมดนี้ทำให้ MKR เป็นเหมือนหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ในเวลาเดียวกัน เพราะสามารถออกเสียงโหวตได้เหมือนผู้ถือหุ้น แต่ในขณะเดียวกัน ปริมาณ MKR ส่วนนึงก็ถูกทำลายเมื่อมีการใช้งานเหมือนน้ำมันที่มีจำกัดในโลก และมีปริมาณลดลงตามการใช้งาน 

องค์กรบนบล็อกเชนเหล่านี้มีชื่อว่า Decentralized Autonomous Organizations (DAOs) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่หาไม่ได้ในโลกยุคเดิม ตามที่ได้กล่าวไว้ MakerDAO ปัจจุบันมีมูลค่าทางตลาดกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ไม่ต้องจดทะเบียนบริษัทเพื่อรับรู้รายได้เลย

ถึงแม้บล็อกเชนจะช่วยให้บางโครงการสามารถตั้งอยู่บนโลกของมันเองได้โดยไม่พึ่งพาสถาบันดั้งเดิมอย่างรัฐบาลแล้ว แต่บางโครงการก็จำเป็นต้องมีบริษัทอยู่ เนื่องจากโลกการเงินและการใช้จ่ายรายวันยังคงพึ่งพาสกุลเงินหลักของแต่ละประเทศ เสถียรภาพของค่าเงินที่หลายคนชื่นชอบเกิดขึ้นเพราะมีสถาบันที่มั่นคงแข็งแกร่งดูแลอยู่ บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายเพื่อให้บริการลูกค้า เช่น ศูนย์ซื้อขาย โบรกเกอร์ ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น และหากนักลงทุนต้องการทำกำไรจากการเจริญเติบโตของบริษัทกลุ่มนี้ ก็จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นของบริษัท 

Decentralized Finance

ในปี 2015 บริษัท Coinbase ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัล ในสหรัฐอเมริกา ระดมทุนกว่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีมูลค่าอยู่ที่ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2018 ได้มีการเพิ่มทุนและบริษัทมีมูลค่าเติบโตขึ้นเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะผ่านการซื้อหุ้นหรือโทเคนนั้นจึงขึ้นอยู่กับโครงสร้างการบริหารจัดการและระบบเพิ่มมูลค่าแก่หน่วยลงทุน

การแข่งขันและความหลากหลายของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในโลกบล็อกเชนอาจสร้างโอกาสใหม่ที่ทฤษฎีเก่าไม่สามารถอธิบายได้ ตั้งแต่วิวัฒนาการจาก Bitcoin Maximalism กลายเป็นการลงทุนในโครงการ Layer 1 ที่มาทดแทนเทคโนโลยีเดิม จนถึงการลงทุนในโทเคนดิจิทัลที่สร้างมูลค่าจากแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนที่คนเชื่อว่าไม่น่าจะมีมูลค่าเยอะกว่าคริปโทเคอร์เรนซีของโพรโทคอลที่เป็นรากฐานให้แก่แอปพลิเคชันเหล่านี้ 

ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีอัตราเร่งจะมีอยู่คู่อุตสาหกรรมบล็อกเชนไปอีกนาน และนักลงทุนควรจะเตรียมรับมือด้วยใจที่เปิดกว้างเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และไม่ยึดติดกับตำรา หลักคิด หรือทฤษฎีเดิม ๆ มิฉะนั้นนักลงทุนอาจจะติดกับดักความเชื่อของตัวเองแล้วมองข้ามโอกาสการลงทุนที่มีค่าในอนาคตได้

บทความนี้เขียนโดย กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO บริษัท บิทาซซ่า จำกัด บทความนี้มีไว้ให้ข้อมูลเท่านั้น มุมมองและความคิดเห็นถือเป็นเนื้อหาที่มาจากปัจเจกบุคคล และไม่ถือเป็นการแสดงออกโดยบริษัท บิทาซซ่า จำกัดและพนักงานที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาที่นำเสนอไม่ถือเป็นคำแนะนำด้านการลงทุน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ERX Launches Thailand’s First Trading Platform Dedicated to Digital Tokens

Leave a comment

เกี่ยวกับ SuperCryptoNews

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN